มาตรฐานความปลอดภัยในอุปกรณ์เซฟตี้ที่ควรมี
มาตรฐานของหมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้ ช่วยให้ห่างไกลจากอันตราย
อุปกรณ์เซฟตี้หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) เป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันอันตรายหรือลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งของตกหล่น, การสัมผัสความเย็นและความร้อน, สารเคมี, กระแสไฟฟ้า, การเจาะทะลุ, การลื่น ซึ่งเป็นอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบจึงทำให้อุปกรณ์เซฟตี้มีหลายชนิดเพื่อให้สามารถป้องกันอันตรายทุกส่วนของร่างกายได้ เช่น หมวกนิรภัยป้องกันศีรษะจากการกระแทก รองเท้าเซฟตี้ป้องกันเท้าจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น น้ำเจิ่งนอง, มีสารเคมี หรือมีกระแสไฟฟ้า, การเจาะจากของแหลม ด้วยอุปกรณ์เซฟตี้ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่ออันตรายจึงต้องมีมาตรฐานเพื่อคอยควบคุมดูแลให้เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้เพราะหากไม่มีมาตรฐานอาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ที่สวมใส่ได้
มาตรฐานอุปกรณ์เซฟตี้ที่ใช้ในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 มาตรฐาน
มาตรฐานทั้ง 9 เป็นมาตรฐานที่มีการก่อตั้งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยที่มีจุดประสงค์ และวิธีการที่เหมือนและมีความแตกต่างกันแต่มีความสอดคล้องกับกฎหมายไทย โดยมาตรฐานความปลอดภัยทั้ง 9 มีดังนี้
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีสัญลักษณ์คือ มอก.หรือ TIS
- มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health) สัญลักษณ์คือ NIOSH
- มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization) สัญลักษณ์คือ ISO
- มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association) สัญลักษณ์คือ NFPA
- มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute) สัญลักษณ์คือ ANSI
- มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards)มีสัญลักษณ์คือ EN หรือ CE
- มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards) สัญลักษณ์คือ JIS
- มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards) สัญลักษณ์คือ AS/NZS
- มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration) สัญลักษณ์คือ OSHA
มาตรฐานของหมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้ สัญลักษณ์ความปลอดภัยของอุตสาหกรรม
มาตรฐานหมวกนิรภัย หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันศีรษะจากการโดนของแข็งกระแทก การเจาะ และกระแสไฟฟ้า ซึ่งหมวกนิรภัยผลิตจากพลาสติกแข็ง โลหะ หรือไฟเบอร์กลาส จะมีสายรัดศีรษะและคางที่สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของศีรษะได้เพื่อให้แน่นหนาสำหรับการป้องกัน นอกจากนั้นหมวกนิรภัยยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติมได้ เช่น กระบังหน้า, ที่ปิดหู เพื่อครอบคลุมความปลอดภัยในการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของหมวกนิรภัยมีทั้งหมด 5 มาตรฐานด้วยกันคือ Osha Standard, ANSI/Isea Z89.1 standard, En Standard, CSA Z94.1 Standard และ มาตรฐาน มอก. ขอยกตัวอย่างรายละเอียดของ มาตรฐานหมวกนิรภัยของ ANSI โดยมีรายละเอียดดังนี้หมวกนิรภัยตามมาตรฐาน ANSI Standard Z89.1-2003 มาตรฐาน ANSI Standard Z89.1-2003 มีการกำหนดประเภทของหมวกนิรภัยและระดับของหมวกนิรภัยเพื่อให้สามารถทำการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับประเภทของงาน โดยการทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบขั้นพื้นฐานที่ใช้ทดสอบความแข็งแรงและทนทานในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงแต่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์
ประเภทของหมวกนิรภัย
ตามมาตรฐาน ANSI Z89.1-2003 ได้แบ่งหมวกนิรภัยตามลักษณะของการป้องกันซึ่งมี 2 รูปแบบคือ ป้องกันกระแทกและป้องกันไฟฟ้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- หมวกนิรภัยประเภทที่ 1 ที่ลดการกันกระแทกจากด้านบนแต่ไม่สามารถกันการกระแทกจากด้านข้าง
- หมวกนิรภัยประเภทที่ 2 ที่ลดการกันกระแทกทั้งด้านบนและด้านข้าง
- หมวกนิรภัย ประเภท E ย่อมาจาก Electrical หมวกนิรภัยประเภทนี้ป้องกันไฟฟ้าได้ดี โดยจะต้องผ่านการทดสอบการป้องกันไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์
- หมวกนิรภัย ประเภท G ย่อมาจาก General หมวกนิรภัยประเภทนี้จะต้องผ่านการทดสอบการป้องกันไฟฟ้าที่ 2,200 โวลต์
- หมวกนิรภัยประเภทที่ C ย่อมาจาก Conductive หมวกนิรภัยประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันไฟฟ้า และไม่มีการทดสอบการป้องกันไฟฟ้า
การทดสอบประสิทธิภาพหมวกนิรภัยของมาตรฐาน ANSI Z89.2003
- การป้องกันการกระแทก ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการสวมใส่จริงและทดสอบหมวกนิรภัยในสภาพอากาศเย็น 12 ประเภทและสภาพอากาศร้อน 12 ประเภท เพื่อทดสอบการกระแทกของหมวกนิรภัยในสภาพอากาศที่แตกต่างกันที่ความเร็ว ณ จุดกระทบ 5.5 เมตร/วินาที โดยวัตถุที่ใช้ในการทดสอบที่ตกกระทบควรมีน้ำหนัก 3.6 กิโลกรัม ซึ่งค่าการทดสอบและค่าเฉลี่ยจากการทดสอบทั้ง 24 สภาพอากาศจะต้องมีการบันทึก และความเร็วการตกกระทบของวัตถุค่าเฉลี่ยของแรงที่ส่งผ่านหมวกนิรภัยไม่ควรเกิน 3,780 นิวตัน
- การเจาะทะลุ ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 โดยการทดสอบจะมีการสวมใส่จริงและวัตถุที่ใช้ในการทดสอบการเจาะจะต้องมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยการพุ่งมาของวัตถุต้องพุ่งมาในบริเวณเส้นรอบวงรัศมีไม่เกิน 75 mm (3.0 นิ้ว) จากกึ่งกลางของหมวกนิรภัยและความเร็วที่เกิดจากการตกจากที่สูงจะต้องมีความเร็ว ณ จุดกระทบ 7 เมตร/วินาที ซึ่งหมวกนิรภัยที่มีประสิทธิภาพวัตถุที่มาเจาะไม่ควรติดกับเนื้อของหมวกนิรภัย
- การป้องกันไฟ ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 โดยมีการสวมใส่จริงและพ่นไฟที่หมวกนิรภัยเป็นเวลา 5 วินาทีที่อุณหภูมิ 800-900 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังการทดสอบบริเวณด้านนอกของหมวกนิรภัยไม่ควรมีร่องรอยของการไหม้
- การป้องกันไฟฟ้า ใช้ทดสอบทั้งหมวกนิรภัยประเภทที่ 1, ประเภท 2, ประเภท E และ G โดยจะมีการทดสอบการป้องกันการกระแทกก่อนแล้วจึงจะทดสอบการป้องกันการรั่วของไฟฟ้าโดยประเภท E ทดสอบกับไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์ เป็นเวลา 3 นาทีที่ 9 มิลลิแอมป์และทดสอบการป้องกันการไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าที่ 30,000 โวลต์ หากมีประสิทธิภาพจะต้องไม่มีการรั่วและการเกิดรอยไหม้ หมวกนิรภัยป้องกันไฟฟ้าประเภท G จะต้องผ่านการทดสอบกับไฟฟ้าที่ 2,200 โวลต์ เป็นเวลา 1 นาทีที่ 3 มิลลิแอมป์
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบประสิทธิภาพและมาตรฐานของอุปกรณ์ป้องกันศรีษะอีก 3 การทดสอบ คือ การดูดซับพลังงานการกระแทก, การเจาะทะลุนอกเหนือจากศูนย์กลางหมวก และการคืนตัวของรองในหมวก ซึ่งใช้ทดสอบกับหมวกนิรภัยประเภทที่ 2 เท่านั้น และหมวกนิรภัยที่ผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะต้องระบุเครื่องหมายมาตรฐาน ANSI, ชื่อ, สัญลักษณ์ของผู้ผลิต, วันที่ผลิต และขนาดบนหมวกนิรภัยตามมาตรฐานที่กำหนด มาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ รองเท้าเซฟตี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันความปลอดภัยบริเวณเท้าจากการตกหล่น การเตะ การสะดุด ลื่นไถล หรือการเจาะจากสิ่งของหรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง รองเท้านิรภัยมีทั้งแบบที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไปและใช้ในงานเฉพาะด้าน เช่น งานที่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า มาตรฐานของรองเท้าเซฟตี้ต้องผ่านการทดสอบตามคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ถึงจะผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐานได้ โดยมีการทดสอบดังนี้ 1. มีการป้องกันเท้าจากการกระแทก 2. การป้องกันเท้าจากการเจาะทะลุ 3. การป้องกันเท้าจากแรงกดทับ โดยอ้างอิงมาตรฐานการทดสอบตามมาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ในแต่ละประเทศ มีกฎหมายและกฎระเบียบที่แตกต่างกันออกไป จึงส่งผลให้รองเท้าเซฟตี้ที่ผลิตแต่ละประเทศมีความแตกต่างด้านคุณสมบัติที่เพิ่มเติม ซึ่งมาตรฐานของรองเท้าเซฟตี้มีทั้งหมด 4 มาตรฐานด้วยกันคือ EN หรือ EN ISO, JIS, ASTM และ มาตรฐาน มอก. ขอยกตัวอย่างรายละเอียดของมาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ตามมาตรฐานยุโรป EN ISO โดยมีรายละเอียดดังนี้
รองเท้าเซฟตี้มาตรฐาน EN ISO 20345: 2011 เป็นมาตรฐานที่ใช้ในสหภาพยุโรปมีการทดสอบอย่างเข้มงวดและมีข้อกำหนดคุณสมบัติที่แบ่งตามประเภทของรองเท้าเซฟตี้ โดยมีคุณสมบัติมาตรฐานพื้นฐานดังนี้
- หัวของรองเท้าเซฟตี้ที่เป็นหัวเหล็ก ต้องสามารถต้านการกระแทกได้ 200 จูล
- วัสดุเสริมพื้นรองเท้า แผ่นรองพื้นระหว่างชั้นนอกและชั้นในสามารถทนแรงทะลุได้ 1,100 นิวตัน
- พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อน้ำมันและสารเคมี
- พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อนได้ 160 °C, 360 °C
- พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติในการกันลื่น
- รองเท้าเซฟตี้ที่ใช้กับงานไฟฟ้าต้องป้องกันไฟฟ้าสถิตได้
- รองเท้าเซฟตี้ที่ทำจากหนัง หนังรองเท้าต้องสามารถระบายอากาศได้
นอกจากนี้รองเท้าเซฟตี้หัวเหล็กมาตรฐานยุโรป EN ISO 20345 ที่สามารถต้านทานแรงกระแทก 200 จูล เป็นระดับการป้องกันที่สูงสุด มีการแบ่งประเภทแยกย่อยเป็น Class I และ Class II ซึ่งในแต่ละ Class จะมีสัญลักษณ์และคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้
- ประเภท Class I เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ทำจากหนังและวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ยางธรรมชาติหรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีด้วยกัน 5 ชนิด
- 1.1 SB รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
- 1.2 S1 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นสามารถต้านทานไฟฟ้าสถิตได้ ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้ และหัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
- 1.3 S1P รองเท้าเซฟตี้มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นสามารถต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก มีชั้นตรงกลางของพื้นต้านทานการแทงทะลุ หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
- 1.4 S2 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก กันน้ำได้ และหัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
- 1.5 S3 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้ กันน้ำได้ มีชั้นตรงกลางของพื้นต้านทานการแทงทะลุ หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล พื้นรองเท้าด้านนอกแบบมีปุ่ม
- ประเภท Class II รองเท้าเซฟตี้ผลิตจากยางหรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีด้วยกัน 3 ชนิด
- 2.1 SB รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล และกันน้ำได้
- 2.2 S4 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล ป้องกันไฟฟ้าสถิต และพื้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้
- 2.3 S5 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล มีชั้นตรงกลางของพื้นรองเท้าต้านทานการเจาะทะลุ ป้องกันไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก กันน้ำ และพื้นรองเท้าด้านนอกแบบมีปุ่ม
ทั้งนี้มาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ EN ISO 20345 มีข้อบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มตัวอักษรระบุวัตถุประสงค์การใช้งานหรือสภาพแวดล้อมในการใช้งานรองเท้าเซฟตี้เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้ถูกต้องและปลอดภัย เช่น สัญลักษณ์ SB, S1 และหากรองเท้าเซฟตี้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อรองรับการใช้งานที่เฉพาะมากยิ่งขึ้นจะมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมด้านท้ายโดยมีสัญลักษณ์และความหมายดังนี้
- P พื้นรองเท้าเสริมเหล็กป้องกันการเจาะทะลุ 1,100 นิวตัน
- C รองเท้าสามารถป้องกันไฟฟ้าสถิตแบบตัวนำได้
- A รองเท้าสามารถป้องกันไฟฟ้าสถิตได้
- HI รองเท้ามีฉนวนป้องกันความร้อน
- CI รองเท้ามีฉนวนป้องกันความเย็น
- E พื้นรองเท้าสามารถช่วยดูดซับแรงกระแทกส้นเท้าได้ 20 จูล
- WRU ส่วนบนของรองเท้าป้องกันน้ำซึมเข้ารองเท้าได้
- HRO พื้นรองเท้าทนต่อความร้อน 300 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที
- ORO พื้นรองเท้าป้องกันน้ำมันได้
การเลือกใช้อุปกรณ์เซฟตี้ที่มีมาตรฐานจะช่วยป้องกันอันตรายที่ไม่ร้ายแรงและช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ ทั้งนี้มาตรฐานอุปกรณ์เซฟตี้มีความแตกต่างกันตามกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศที่ผลิต อุปกรณ์เซฟตี้อย่างหมวกนิรภัยและรองเท้าเซฟตี้เป็นอุปกรณ์ที่ในทุกอุตสาหกรรมจะต้องมีจัดเตรียมไว้สำหรับพนักงานเพื่อสร้างปลอดภัยในการปฏิบัติงานและเป็นอุปกรณ์เซฟตี้ที่นิยมในการใช้งานเพราะใช้ป้องกันส่วนของร่างกายที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและนำไปสู่อันตรายที่ร้ายแรงได้
Jenstore by Jenbunjerd ศูนย์รวมเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย ชุดป้องกันสารเคมี หมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้, หน้ากากกันสารเคมี, เข็มขัดกันตกเซฟตี้, แว่นตานิรภัย, ถุงมือกันไฟฟ้า ฯลฯ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานจึงปลอดภัยในการใช้งาน พร้อมยินดีให้คำปรึกษาการเลือกใช้งานและรับจัดหาสินค้าให้ตรงตามความต้องการ นอกจากนั้นยังมีบริการหลังการขายและการรับประกันคุณภาพสินค้าอีกด้วย
สนใจสินค้าติดต่อเรา
Website : https://www.jenstore.com (Live Chat)
ฝ่ายขาย : 02-096-9999 (200 คู่สาย)
Email : cataloguesale@jenbunjerd.com
บริการลูกค้า : 02-096-9898 ext 3102-3103
Email : cs1@jenbunjerd.com
LINE Official Account: @jenstore
Facebook : เจนสโตร์ - JenStore by Jenbunjerd